24 มิ.ย. 2475 กลุ่มบุคคลในนาม คณะราษฎรได้ล้มล้างระบบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ คือ แกนนำคนสำคัญผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นผู้ที่รับผิดชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ เป็นทั้งนักปฏิวัติ ปัญญาชน รัฐบุรุษ และผู้ลี้ภัยทางการเมือง
เมื่อปี 2525 ในวาระครบรอบ 50 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายปรีดี ให้สัมภาษณ์วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย ผ่าน ดร. จริยวัฒน์ สันตะบุตร ขณะลี้ภัยการเมืองพำนักอยู่ที่ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
นายปรีดีมองว่า ความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎรที่ทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยล่าช้าไปในช่วง 14 ปีแรก เกิดจาก
1. ความขัดแย้งภายในขบวนการเมือง เขามองว่า ทุกคณะพรรคการเมืองที่ต่อสู้ระหว่างกันตามวิถีทางรัฐสภานั้น ก็มีความขัดแย้งภายในพรรค แม้ว่าคณะพรรคใดได้อำนาจรัฐแล้ว แต่ความขัดแย้งภายใน ณ พรรคนั้นก็ยังคงมีอยู่
2. ความผิดพลาดของคณะราษฎรโดยเฉพาะ แบ่งออกเป็น 4 ประการ คือ
- ประการที่หนึ่ง ขาดการศึกษาถึงกฎแห่งความขัดแย้งในขบวนการเมือง จึงทำให้สมาชิกส่วนมาก ขาดความระมัดระวังต่อการที่สมาชิกจำนวนหนึ่งฟื้นซากทัศนะเผด็จการทาสศักดินา ซึ่งเป็นการโต้อภิวัฒน์หรือ Counter Revolution ต่อการปฏิวัติซึ่งตนเองได้เคยพลีชีวิตร่วมกับคณะ
- ประการที่สอง คณะราษฎรคิดแต่เพียงเอาชนะทางยุทธวิธีในการยึดอำนาจรัฐเป็นสำคัญ โดยมิได้คิดให้รอบคอบว่าจะรักษาชัยชนะไว้ได้อย่างไรจึงจะไม่ถูกการโต้อภิวัฒน์ ซึ่งจะทำให้ชาติต้องเดินถอยหลังเข้าคลอง
- ประการที่สาม ความรู้ความสามารถของสมาชิกคณะราษฎร เขาเห็นว่าหัวหน้าคณะราษฎร 3 คน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิอัคเนย์ มีความรู้ความชำนาญการทหาร สามารถนำคณะยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว แต่สมาชิกหลายคนแม้มีความรู้ทางทฤษฎี เกี่ยวกับการสถาปนาประเทศ แต่ก็ขาดความชำนาญในการปฏิบัติ และขาดความชำนาญในการติดต่อกับราษฎรอย่างกว้างขวาง รวมทั้งตัวเขาเองด้วย
- ประการที่สี่ ความคาดหวังที่สูงเกินไปต่ออดีตข้าราชการ ซึ่งเขาอธิบายว่า การเชิญข้าราชการเก่ามาร่วมบริหารประเทศนั้น เขาหวังให้คนเหล่านั้นก้าวหน้ามากเกินไปกว่าที่พวกเขาจะทำได้ จึงเป็นเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในกระบวนการปฏิวัติ ถึงกับมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญถาวรฉบับ 10 ธันวาคม 2475
มองอนาคตประเทศไทยจากปี 2525
เขาเห็นว่าอนาคตของประเทศไทยจากปี 2525 จะต้องแก้ไขโดยการพัฒนาสาระสำคัญ 4 ประการของสังคมประกอบกัน คือ
1. พัฒนาเศรษฐกิจซึ่งเป็นรากฐานของมนุษยสังคมให้เป็นเศรษฐกิจประชาธิปไตย เศรษฐกิจซึ่งเป็นรากฐานของมนุษย์สังคมที่มิใช่เศรษฐกิจประชาธิปไตยนั้น ย่อมเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจทำให้ประชาชนอัตคัตขัดสน ซึ่งเป็นการทำให้รากฐานของสังคมระส่ำระสาย ฉะนั้นมนุษย์ในสังคมต้องพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นเศรษฐกิจประชาธิปไตยได้มากเพียงใด เศรษฐกิจที่เป็นรากฐานก็มั่นคงสมบูรณ์มากขึ้นเพียงนั้น
2. พัฒนาการเมืองเป็นการเมืองประชาธิปไตย สมานกับรากฐานเศรษฐกิจประชาธิปไตย การเมืองที่ตั้งอยู่บนความนึกคิดที่เลื่อนลอย ย่อมมีผลสะท้อนกลับไปสู่รากฐานเศรษฐกิจของสังคม ทำให้รากฐานนั้นระส่ำระสายและเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นมนุษย์ในสังคมต้องพัฒนาการเมืองให้ตั้งอยู่บนรากฐานเศรษฐกิจประชาธิปไตยได้มากเพียงใด ก็จะเป็นการเมืองประชาธิปไตยมากขึ้นเพียงนั้น และจะมีผลสะท้อนกลับไปสู่รากฐานเศรษฐกิจของสังคมให้มีความมั่นคงสมบูรณ์มากขึ้นเพียงนั้น
3. พัฒนาคติธรรมของมนุษย์ ให้เป็นคติธรรมประชาธิปไตย บุคคลที่ไม่มีจิตใจประชาธิปไตยก็ไม่อาจปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและการเมือง ให้เป็นเศรษฐกิจประชาธิปไตยและการเมืองประชาธิปไตยได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาคติธรรมของบุคคล ให้เป็นคติธรรมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหลักนำบุคคล ให้มีจิตใจประชาธิปไตย ปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองประชาธิปไตย มิเช่นนั้นวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองก็จะเกิดขึ้น
4. พัฒนาวิธีประชาธิปไตยในการพิทักษ์เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย เขาเห็นว่า ระบบเผด็จการฟาสซิสต์ของมุสโสลินี ระบบเผด็จการนาซีของฮิตเลอร์ ระบบเผด็จการของคณะนายพลญี่ปุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ซึ่งเป็นซากตกค้างมาจากระบบเผด็จการทาสศักดินา อันเป็นระบบที่นำชาติไปรุกรานชาติอื่น ผลที่ปรากฏคือ ระบบเผด็จการดังกล่าวได้นำชาติไปสู่ความหายนะ ฉะนั้นเพื่อพัฒนาสังคมไทยให้มีรากฐานเศรษฐกิจประชาธิปไตย การเมืองประชาธิปไตย จิตใจและคติธรรมประชาธิปไตยดังกล่าวแล้วนั้น ก็จำต้องพัฒนาวิธีประชาธิปไตยในการพิทักษ์เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย มิฉะนั้นความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้นระหว่างวิธีพิทักษ์สังคมที่เป็นเผด็จการหรือที่ไม่เป็นประชาธิปไตยฝ่ายหนึ่ง กับเศรษฐกิจ การเมือง คติธรรมที่เป็นประชาธิปไตยอีกฝ่ายหนึ่ง วิกฤติการณ์ในสังคมก็เกิดขึ้นทุก ๆ ด้าน และอาจทำให้ชาติเสียความเป็นเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์
"โดยเฉพาะยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคปรมาณูนั้นถ้าใช้วิธีพิทักษ์ชาติซึ่งมิใช่วิธีประชาธิปไตยแล้ว ชาติก็อาจประสบอันตรายจากไฟบรรลัยกัลป์แห่งศาสตราวุธนิวเคลียร์ ศาสตราวุธนิวตรอน ศาสตราวุธเคมี ศาสตราวุธชีววิทยา และศาสตราวุธนอกมาตรฐานและในมาตรฐานชนิดอื่นๆ"
"มากเกินไป" - Google News
June 22, 2020 at 07:29AM
https://ift.tt/2YTxFjv
88 ปี ปฏิวัติสยาม 2475 : จุดอ่อนของคณะราษฎรในมุมมองปรีดี พนมยงค์ - บีบีซีไทย
"มากเกินไป" - Google News
https://ift.tt/3ctwdZD
0 Comments:
Post a Comment