สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ชวนประชาชนรอส่องปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว ตั้งแต่เวลา 00.46 น. ของวันที่ 6 มิ.ย.เป็นต้นไป พร้อมแนะเทคนิคการถ่ายภาพเพื่อสังเกตความแตกต่างของปรากฏการณ์ได้ชัดเจนมากขึ้น
วันนี้ (3 มิ.ย.2563) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) เปิดเผยว่า ในคืนวันที่ 5 มิ.ย.นี้ หลังเที่ยงคืนตั้งแต่เวลา 00.46 เป็นต้นไป จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเงามัว เป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี โดยดวงจันทร์จะเข้าสู่เงามัวของโลกมากที่สุดในเวลาประมาณ 02.25 น. ของวันที่ 6 มิ.ย. และสิ้นสุดปรากฏารณ์ในเวลา 04.04 น. ซึ่งปรากฏการณ์นี้ยากต่อการสังเกตด้วยตาเปล่า ดังนั้นการถ่ายภาพจึงช่วยให้เราสามารถสังเกตเห็นความแตกต่างของปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเงามัวได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ประเภทของปรากฏการณ์จันทรุปราคา
ปรากฏการณ์จันทรุปราคา (Lunar Eclipse) เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เกิดขึ้นเฉพาะในวันดวงจันทร์เต็มดวง หรือ ช่วงข้างขึ้น 14-15 ค่ำ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกที่ทอดไปในอวกาศ ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปเรื่อย ๆ จนดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดทั้งดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก
เงาของโลกที่ทอดไปในอวกาศแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “เงามัว (Penumbra Shadow)” เป็นเงาส่วนนอกสุด เมื่อดวงจันทร์เข้ามาอยู่ในเงาส่วนนี้จะมีความสว่างลดลงเล็กน้อย และ “เงามืด (Umbra Shadow)” เป็นเงาที่มืดสนิท เมื่อดวงจันทร์เข้ามาอยู่ในเงาส่วนนี้จะทำให้เกิดส่วนมืดเว้าแหว่ง จึงแบ่งประเภทของปรากฏการณ์จันทรุปราคาได้ ดังนี้
- จันทรุปราคาเต็มดวง (Total lunar eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ทั้งดวงเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลก จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีส้มหรือสีแดงอิฐ เนื่องจากแสงขาวจากดวงอาทิตย์จะถูกหักเหเมื่อผ่านชั้นบรรยากาศโลก สีแดงและสีส้มเบี่ยงทิศทางเข้าหากลางเงามืด จึงมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงระหว่างเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง
- จันทรุปราคาบางส่วน (Partial lunar eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดของโลกเพียงบางส่วน โดยจะมองเห็นดวงจันทร์มีลักษณะเว้าแหว่ง
- จันทรุปราคาเงามัว (Penumbral lunar eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปเงามัวของโลก โดยไม่ผ่านเงามืด เรายังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง แต่ความสว่างลดน้อยลง สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างยาก
เทคนิคการถ่ายภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว
สำหรับการถ่ายภาพจันทรุปราคาเงามัว ควรเริ่มถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงในช่วงเที่ยงคืน เพื่อนำมาใช้สำหรับการเปรียบเทียบกับภาพขณะเกิดปรากฏการณ์ จากนั้นก็รอถ่ายภาพขณะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว ในช่วงเวลา 02.25 ซึ่งเป็นช่วงที่ดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลกมากที่สุด ก็จะได้สองภาพเพื่อนำมาเปรียบเทียบกันได้ เนื่องจากจันทรุปราคาแบบเงามัวค่อนข้างสังเกตเห็นความแตกต่างได้ยาก โดยมีเทคนิคการถ่ายภาพดวงจันทร์มาแนะนำง่ายๆ ดังนี้
- เปิดจอ LCD หลังกล้องเพื่อช่วยในการโฟกัสภาพดวงจันทร์ให้ชัดที่สุด โดยเลือกจุดโฟกัสบริเวณหลุมบนดวงจันทร์
- ใช้ค่า ISO ประมาณ 100 – 200 เนื่องจากดวงจันทร์มีความสว่างมากอยู่แล้ว
- ใช้ค่ารูรับแสงที่คมชัดมากที่สุด เช่น f/8.0
- ถ่ายภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสสูงๆ เพื่อให้เห็นรายละเอียดของเงามัวชัดเจนมากที่สุด (จากภาพถ่ายเบื้องต้น ผู้ถ่ายใช้เลนส์ทางยาวโฟกัส 1200 mm.)
- ตรวจสอบภาพถ่ายจากหลังกล้อง ว่าภาพถ่ายไม่สว่างโอเวอร์มากเกินไปเพราะจะทำให้ไม่เห็นรายละเอียดของส่วนเงามัวได้
สิ่งสำคัญในการถ่ายภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว
- สภาพทัศนวิสัยท้องฟ้าต้องใสเคลียร์ เนื่องจากหากมีเมฆบางๆ ขณะถ่ายภาพปรากฏการณ์จะทำให้เห็นเงามัวได้ยาก
- ควรถ่ายภาพด้วยเลนส์ทางยาวโฟกัสสูงๆ เพื่อให้เห็นรายละเอียดของเงามัวได้ดีที่สุด
- ถ่ายภาพปรากฏการณ์ในช่วงที่ดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของฌบกมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงมุมของดวงจันทร์ ต้องไม่อยู่ใกล้ขอบฟ้ามากเกินไปจนอาจทำให้มวลอากาศบริเวณขอบฟ้าบดบังเงามัวได้
สำหรับอีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในเดือนนี้คือปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 มิ.ย.2563 เริ่มตั้งแต่เวลา 13.00 น. ไปจนถึงเวลา 16.10 น. ตามเวลาประเทศไทย สามารถที่จะติดตามข่าวสารและรายละเอียดต่างๆ ได้ทางเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
"มากเกินไป" - Google News
June 03, 2020 at 03:40PM
https://ift.tt/2ABQ1ga
รอชม "จันทรุปราคาเงามัว" ครั้งที่ 2 ของปี 6 มิ.ย.นี้ - ข่าวไทยพีบีเอส
"มากเกินไป" - Google News
https://ift.tt/3ctwdZD
0 Comments:
Post a Comment