พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีในรัฐบาล "ประยุทธ์ 2/2" ที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ไม่ผิดไปจากที่หลายคนคาดหมาย โดยเฉพาะเก้าอี้ "เจ้ากระทรวงแรงงาน" ที่ตกเป็นของนายสุชาติ ชมกลิ่น ประธาน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตโฆษกรัฐบาล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ
บีบีซีไทยพูดคุบกับบุคคลในองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานใกล้ชิดกับแรงงาน และผ่านประสบการณ์เปลี่ยนเจ้ากระทรวงมานับครั้งไม่ถ้วน ถึงข้อห่วงกังวลที่มีต่อผู้กุมบังเหียนการทำงานด้านแรงงานของไทยคนใหม่ ท่ามกลางวิกฤตด้านแรงงานของไทยและโลกอันเกิดจากผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
วานนี้ (7 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงเหตุผลในการแต่งตั้งนางนฤมลให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานว่า ต้องการยกระดับให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจอีกกระทรวงหนึ่ง เพราะไทยมีการจ้างงานจำนวนมาก กับต้องการให้แรงงานไทยพัฒนาศักยภาพตนเอง และทำงานหลากหลายประเภทขึ้น เพื่อลดความจำเป็นในการจ้างแรงงานต่างด้าว
ชื่อของนางนฤมล ที่ปรากฏอยู่ในโผคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เรียกเสียง "ฮือฮา" ตั้งแต่ยังไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ บีบีซีไทยได้ติดต่อไปยังนางนฤมล เพื่อสอบถามถึงภารกิจหน้าที่ใหม่ แต่ได้รับคำตอบว่า "ยังไม่สะดวกตอนนี้ รอเวลาที่เหมาะสม ขอถวายสัตย์ปฏิญาณก่อน"
รมว.สไตล์ "จับกัง"
"ผมไม่ได้คุ้นเคยกับท่าน เพียงได้ยินมาว่าท่านก็เคยเป็นแรงงานมาก่อน เป็นจับกัง มีฐานะครอบครัวยากจน มีเส้นทางการเมืองมาจากฝั่งตะวันออก ก็อยากให้มีสไตล์การทำงานให้สมกับที่เคยเป็นจับกัง อยากให้ทำงานถึงลูกถึงคน สามารถเข้าถึงได้ง่าย"
นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย ถึงความคาดหวังที่มีต่อ รมว. แรงงานคนใหม่ ที่น่าจะมีจุดแข็งในเรื่องความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับปัญหาแรงงานเพราะมีประสบการณ์ตรง และใช้ประโยชน์จากการเป็นพรรครัฐบาลเองเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ให้เดินหน้ารวดเร็วขึ้น
ผู้อำนวยการมูลนิธิที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติชี้ว่าปัญหาแรงงานมีความเชื่อมโยงกันระหว่างไทยกับนานาชาติ และในปัจจุบันความเร่งด่วนของปัญหาเปลี่ยนแปลงไปมาก ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาดแรงงานข้ามชาติมีปัญหาเรื่องขั้นตอนการขึ้นทะเบียนแรงงาน ซึ่งนำมาสู่การฉวยประโยชน์ของนายหน้า และเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในเวลานี้ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือการที่ภาคธุรกิจปิดตัวไป
"ผลกระทบหนักตอนนี้คือแรงงานที่อยู่ในสถานประกอบการที่ต้องถูกสั่งปิดจากมาตรการรัฐ พวกร้านอาหาร ถูกให้หยุดงาน แรงงานก็พยามเอาตัวรอดให้ได้ แต่สุดท้ายก็ไม่รอด แรงงานตอนนี้จึงต้องเผชิญกับการหลุดออกจากระบบแทน พวกที่ทำงานผิดประเภทเยอะแยะไปหมด ยิ่งช่วงโควิดทุกคนต้องเอาตัวรอด ย้ายไปอยู่ในที่ที่มีงาน หลุดออกนอกระบบเยอะแน่นอน แม้ชื่อจะอยู่ในระบบ แต่คนทำงานผิดที่ผิดทาง"
ในฐานะผู้ทำงานใกล้ชิดกับแรงงาน นายสมพงค์ จึงมองว่าเจ้ากระทรวงแรงงานคนใหม่ อาจต้องคิดวิธีการจัดการแรงงานที่อาจไม่ได้ยึดติดกับรูปแบบเดิม แต่ต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเร่งจัดการระบบแรงงานภายในเพื่อใช้มีการใช้แรงงานในประเทศที่ตกงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในจังหวะที่ประเทศไม่สามารถเปิดรับแรงงานจากภายนอกได้ ส่วนเรื่องการกำกับดูแลสิทธิแรงงานตามกฎหมาย ที่ยังคงมีการละเมิดอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว
คาดหวัง รมว.-รมช.พร้อมใช้งาน
นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มองว่าจากปัญหาเร่งด่วนด้านแรงงานที่รอการแก้ไขอยู่ คนสายแรงงานจึงต้องการเจ้ากระทรวงที่ "พร้อมใช้"
"ไม่มีเวลาให้เข้ามาศึกษากระทรวงแรงงานอีกแล้วว่าเคยทำอะไรไว้บ้าง ผมว่ามันไม่ทัน มีเรื่องเร่งด่วนที่รอให้ต้องทำงานเลย รัฐมนตรีที่เข้ามาใหม่ต้องรีบทำงานเชิงรุก"
นายชาลีตั้งคำถามว่า การจัดการในกระทรวงแรงงานในปัจจุบันใช้กฎหมายเป็นตัวตั้งเกินไปหรือไม่จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาแรงงานได้ทันท่วงที เขาจึงเห็นว่าการลดขั้นตอนแก้ปัญหาแรงงานคือบททดสอบเร่งด่วนอย่างแรกที่ รมว. คนใหม่ จะต้องพิสูจน์ตนเองว่าเหมาะสมกับตำแหน่งนี้หรือไม่
ในฐานะผู้ทำงานช่วยเหลือแรงงานมาอย่างยาวนาน นายชาลีเป็นห่วงว่าการที่ รมว.คนใหม่อาจไม่เคยมีประสบการณ์ในแง่การจัดการสถานการณ์แรงงาน จะสามารถมองภาพรวมปัญหาได้ทะลุปรุโปร่งมากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตาม เขามองว่ารมช. อย่างนางนฤมลที่มีความความสามารถเชิงวิชาการ และคลุกคลีกับแรงงานมาบ้างอาจช่วยทำให้งานเดินหน้าไปได้ โดยเฉพาะการจัดการภายในกระทรวง และการประสานงานต่างประเทศ
"รมว.ต้องกล้าพูด กล้าทำ กล้าแสดง กล้าตัดสินใจในสิ่งที่มองว่าจะทำให้สังคมส่วนรวมได้ บางครั้งต้องใช้ความคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเองบ้าง อย่าเชื่อเพียงข้าราชการที่มีธงของตัวเองมากเกินไป ไม่งั้นก็เหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยน"
นอกเหนือจากความจำเป็นเฉพาะหน้าแล้ว นายชาลีกล่าวว่า นโยบายระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับต่างชาติก็จะต้องไม่ละทิ้ง อย่างการรับรองอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว หรืออนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อแสดงท่าที้ให้ต่างชาติเชื่อมั่นในเสรีภาพและการอยู่ภายใต้กฎหมายโดยไม่มีการละเมิด ซึ่งล้วนส่งผลต่อการแก้ปัญกาแรงงานทั้งสิ้น
เปิดประวัติ รมว.-รมช.แรงงานหน้าใหม่
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน หรือ "เสี่ยเฮ้ง" วัย 46 ปี เคยเป็น ส.ส.ชลบุรี 2 สมัย ด้วยแรงสนับสนุนของ "บ้านใหญ่" อันหมายถึงตระกูล "คุณปลื้ม" ของนายสมชาย หรือ "กำนันเป๊าะ" ต่อมานายสุชาติได้รับความไว้วางใจจาก "ผู้ใหญ่" ให้ทำหน้าที่ประธาน ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นตัวเชื่อมระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร และยังรั้งตำแหน่งรองหัวหนาพรรคด้วย
ภายหลังรัฐประหาร 2557 เขาไปทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในนาม บมจ. อรินสิริแลนด์ หรือ ARIN ก่อนทิ้งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ (ซีอีโอ) และหวนคืนสนามการเมืองในปี 2562 ในนาม ส.ส. พปชร. โดยก่อนหน้านี้ต้อง "อกหัก" จาก ครม. "ประยุทธ์ 2/1" แม้จะถูกคาดการว่าจะได้รับตำแหน่งเจ้ากระทรวงด้วยต้องปล่อยโควต้าให้พรรคร่วมรัฐบาล
ในขณะที่ รมช.แรงงาน นางนฤมล ภิญโญ ด้วยภาพจำของ "โฆษกบิ๊กอาย" ที่มีดีกรีเป็นศาสตราจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาของตลาดหลักทรัพย์นานกว่า 10 ปี ทำให้การรับตำแหน่งครั้งนี้ยิ่งถูกจับตามากขึ้น
โดยเส้นทางการเมืองของนางนฤมลนั้น เริ่มต้นในรัฐบาลหลังรัฐประหาร 2557 ในฐานะคณะทำงานของ พล.อ. ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน โดยเข้าไปดูแลยุทธศาสตร์การลงทุนของกองทุนประกันสังคม ก่อนขยับชั้นเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ของนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ และช่วงการเลือกตั้งปี 2562 ได้เข้าร่วมทีมผลิตนโยบายหาเสียงชุด "มารดาประชารัฐ" ต่อมาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะลาออกเมื่อ 30 มิ.ย.
"มากเกินไป" - Google News
August 08, 2020 at 08:09PM
https://ift.tt/3a7V2uD
ประยุทธ์ 2/2 : ภาคแรงงานรุกพิสูจน์ฝีมือสุชาติ-นฤมล ย้ำ รมว. แรงงานต้อง "พร้อมใช้" - บีบีซีไทย
"มากเกินไป" - Google News
https://ift.tt/3ctwdZD
0 Comments:
Post a Comment