ชิบู เป็นผู้ก่อตั้งทรานส์เซนด์ (Transcend) บริษัทขนาดเล็กในกรุงลอนดอนที่ซื้อผลิตภัณฑ์ความสวยความงามในปริมาณมากแล้วนำมาขายต่อทางออนไลน์
ในช่วงปีครึ่งที่ผ่านมา เขาได้ใช้ซอฟต์แวร์ฮับสตาฟฟ์ (Hubstaff) ในการติดตามเวลาทำงาน นับจำนวนครั้งการเคาะแป้นพิมพ์ บันทึกข้อมูลการขยับเมาส์ และการเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ ของพนักงานในบริษัท
เขามีพนักงานประจำอยู่ในอินเดีย 7 คน เขาบอกว่า ซอฟต์แวร์นี้ช่วยทำให้เขามั่นใจว่า พนักงาน "มีความรับผิดชอบต่องานในระดับหนึ่ง" และช่วยอุดช่องว่างด้านความแตกต่างของเวลาด้วย
"ผมรู้ว่า [คุณอาจ] พักเพิ่ม 10 นาที ตรงนั้น ตรงนี้ มันดีที่มีวิธีการจับตามองว่า [พนักงานของผม] กำลังทำอะไรอยู่โดยอัตโนมัติ" ชิบู กล่าว
เขากล่าวเพิ่มเติมว่า "การดูภาพถ่ายหน้าจอและเวลาที่แต่ละคนใช้ไปกับงานแต่ละอย่าง ทำให้ผมรู้ว่าพวกเขาได้ทำงานตามขั้นตอนหรือเปล่า"
"และถ้าพวกเขาทำได้ดีกว่าที่คาด ผมก็จะศึกษาภาพถ่ายนั้น และขอให้พวกเขาช่วยแบ่งปันความรู้กับคนอื่น ๆ ในทีม เพื่อที่เราทุกคนจะได้พัฒนาขึ้น" เขากล่าว
ชิบู บอกว่า พนักงานทุกคนรู้ว่ามีการใช้ซอฟต์แวร์ตัวนี้อยู่ และอาจลดเวลาที่ใช้ในการเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่พวกเขาอาจจะเข้าไปดูโดยไม่ตั้งใจในช่วงพักลง
"คนอู้งาน" ที่บ้าน
มีคนจำนวนมากขึ้นต้องทำงานจากบ้านในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 บรรดานายจ้างก็มีความต้องการซอฟต์แวร์สอดแนมนี้เพิ่มสูงขึ้น
ฮับสตาฟฟ์ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ระบุว่า จำนวนลูกค้าในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว นับตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา
บริษัทอีกแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า สนีก (SneeK) เสนอเทคโนโลยีที่ใช้ในการถ่ายภาพพนักงานผ่านแล็ปท็อป และอัปโหลดภาพถ่ายเหล่านั้นไปให้เพื่อนร่วมงานดู
ความถี่ในการถ่ายภาพอาจบ่อยทุก ๆ หนึ่งนาที ทางบริษัทเรียกมันว่าช่องทางในการสื่อสารและระบุว่า "ทุกคนที่ใช้แอปพลิเคชันนี้ จะถูกกระทำอย่างเดียวกันไม่ว่าจะเป็นนายจ้างหรือพนักงาน"
เดล เคอร์รี ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท กล่าวกับบีบีซีว่า จำนวนผู้ใช้งานเทคโนโลยีนี้ของทางบริษัทเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว ในช่วงล็อกดาวน์ ทำให้มีผู้ใช้งานทั้งหมดรวมเกือบ 20,000 คน
การศึกษาเมื่อไม่นานนี้โดยนักวิชาการมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ (Cardiff University) และมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน (University of Southampton) พบว่า ความกังวลที่มีเหมือนกันของบรรดานายจ้างคือ พนักงานที่ไม่อยู่ในสายตาของพวกเขาขณะทำงานจะ "อู้งาน" แม้ว่ายังไม่ปรากฏว่าการล็อกดาวน์ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผลงานก็ตาม
การสำรวจระบุด้วยว่า คนทำงานที่บ้านหนึ่งในสามรู้สึกว่ามีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
แต่เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ผู้ที่อาจจะทำงานอืดอาดกระตือรือร้นขึ้น หรือช่วยให้คนที่กำลังพยายามปรับตัวกับการทำงานเต็มเวลาจากโต๊ะรับประทานอาหารที่บ้านได้ดีขึ้นหรือไม่
"ผมคงรู้สึกไม่ดี ถ้ามีคนมาแกะรอยผม"
จอช ช่างภาพวัย 26 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน ยอมรับว่า เรื่องที่ยากที่สุดในการทำงานจากบ้านคือ ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง
การตั้งสตูดิโอชั่วคราวในครัวของแฟลตขนาด 3 ห้องนอนที่อยู่ร่วมกับคนอื่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว แต่เขายังมีปัญหาด้านแรงจูงใจอีกด้วย
"บางวันผมต้องทำทุกอย่าง แต่วันที่เหลือ ผมก็แค่นั่งและจ้องรองเท้าแตะสักพักและคิดว่า 'ผมทำแบบนี้ไม่ได้' การลุกไปซักผ้า หรือชงชาสักถ้วย มันง่ายมาก มีหลายเรื่องที่คุณทำให้ตัวเองเสียสมาธิได้ง่าย"
เขารู้สึกขอบคุณหัวหน้าที่ไม่ได้ใช้ซอฟต์แวร์แกะรอยใด ๆ กับตัวเขา "ในช่วงเวลาที่การสร้างแรงจูงใจเป็นเรื่องยากขึ้น ผมคงรู้สึกแย่มาก ถ้ารู้ว่ามีคนกำลังแกะรอยว่าผมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน" เขากล่าว
จอช สงสัยมานานแล้วว่าเขาเป็นโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder--ADHD) ทำให้การจดจ่อและบริหารเวลาเป็นเรื่องยาก แพทย์ของเขาเห็นด้วยกับเรื่องนี้ แม้ว่าเขากำลังรอรับการทดสอบอยู่
การได้กลับไปทำงานที่สำนักงานเมื่อไม่นานนี้ ทำให้เขาเห็นคุณค่าของการมีปฏิสัมพันธ์กับแบบเจอหน้ากันมากขึ้น
การจับตามองต้อง "มีสัดส่วนที่พอเหมาะ"
แม้ว่าหัวหน้าบางคนที่ใช้ซอฟต์แวร์ประเภทนี้อาจจะโต้แย้งว่า มันเป็นผลดีในการรักษาประสิทธิภาพการทำงาน แต่การวิจัยโดยสถาบันด้านการพัฒนาและบุคลากร (Chartered Institute of Personnel and Development--CIPD) ระบุว่า การสอดแนมในที่ทำงานอาจทำลายความไว้วางใจที่มีต่อกัน
จอนนี กิฟฟอร์ด ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการวิจัยพฤติกรรมองค์กรของ CIPD กล่าวว่า "การจับตามองพฤติกรรมของพนักงานอาจเป็นวิธีที่ชอบธรรมในการลดความเสี่ยงของความประพฤติที่ไม่เหมาะสม และอาจช่วยบริหารผลงานได้"
"อย่างไรก็ตาม นายจ้างควรมีนโยบายที่ชัดเจน เพื่อที่พนักงานจะได้รู้ว่าพวกเขาถูกจับมองอย่างไรบ้าง และที่สำคัญคือ จะต้องมีสัดส่วนที่พอเหมาะ"
เขากล่าวเพิ่มเติมว่า นายจ้างจะ "ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นมาก" ด้วยการให้ความช่วยเหลือพนักงาน "แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่การใช้มาตรการที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร อย่างการนับจำนวนการเคาะแป้มพิมพ์"
โจนาธาน เรนนี หุ้นส่วนบริษัทกฎหมาย TLT ของสหราชอาณาจักร ได้เรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ ที่กำลังพิจารณานำซอฟต์แวร์เหล่านี้มาใช้ ให้คิดอย่างรอบคอบ
"นายจ้างมีหน้าที่ที่ถูกตีความตามกฎหมายว่าต้องรักษาความไว้วางใจและความเชื่อมั่นของพนักงาน และจำเป็นต้องใส่ใจต่อปฏิกิริยาของพนักงานที่มีต่อการใช้ซอฟต์แวร์จับตามองการทำงานเหล่านี้ขนานใหญ่" เขากล่าว
เขาแนะนำว่า บริษัทใด ๆ ที่กำลังใช้ซอฟต์แวร์จับตามองการทำงานอยู่ ควรมีนโยบายที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรที่อธิบายถึงเหตุผลและวิธีการในการนำซอฟต์แวร์นี้มาใช้
ควรมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับผู้จัดการและแนวทางป้องกันการใช้ซอฟต์แวร์นี้ในทางที่ผิด หรือ "ใช้จับตามองการทำงานมากเกินไป" เขากล่าว
"มากเกินไป" - Google News
October 01, 2020 at 12:36PM
https://ift.tt/3l5apbQ
นายจ้างใช้ซอฟต์แวร์สอดแนมการทำงานของลูกจ้าง - บีบีซีไทย
"มากเกินไป" - Google News
https://ift.tt/3ctwdZD
0 Comments:
Post a Comment